ตำรับรักในวรรณกรรม - ตำรับรักในวรรณกรรม นิยาย ตำรับรักในวรรณกรรม : Dek-D.com - Writer

    ตำรับรักในวรรณกรรม

    สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่นึกพล็อตไม่ออก หรือใครก็ตามที่อยากจะเขียนนิยายรักสักเรื่องไม่ควรพลาดที่จะอ่านบทความเรื่องนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดทั้งปวง...คริๆ

    ผู้เข้าชมรวม

    9,761

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    12

    ผู้เข้าชมรวม


    9.76K

    ความคิดเห็น


    27

    คนติดตาม


    14
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  9 ก.ย. 49 / 02:12 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    che ery
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ



      ตำรับรักในวรรณกรรม


      :
      แบบเรื่องความรัก จากรวมเรื่องสั้นชุด "ความรู้สึกดี...ที่เรียกว่ารัก"

      "… รสใดไม่เหมือนรสรัก        หวานนักหวานใดจะเปรียบได้

             แต่มิได้เชยชมสมใจ                ขมใดไม่เทียบเปรียบปาน"

      (ท้าวแสนปม, 2513. หน้า 642)

      ในงานวรรณกรรมไม่ว่าจะเป็นของชนชาติใด "ความรัก" ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเพราะ"ตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีความรักเป็นอารมณ์หนึ่งของปุถุชนธรรมดา เนื้อหาและผลกระทบของความรักไม่ว่าจะในเชิงสุข ทุกข์ ดีหรือร้าย ย่อมจะยังเป็นสิ่งที่นำมาตีแผ่ใคร่ครวญได้เสมอในวรรณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งอาจจะเป็นสาระที่สามารถสัมผัสใจของผู้อ่านได้โดยง่ายที่สุดเหนือเนื้อหาที่เกิดจากอารมณ์อื่นใด" (วนิดา บำรุงไทย, 2544. หน้า 93)

        ทำให้ปัจจุบันตลาดวรรณกรรมทั้งเรื่องสั้น และนวนิยาย ยังคงเปิดรับเรื่องราวเกี่ยวกับความรักอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการที่หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด "ความรู้สึกดีที่เรียกว่ารัก" ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างล้นหลามถึงขั้นพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในชั่วระยะเวลาที่ห่างกันเพียง 1 เดือนเช่น เล่มที่ 1พิมพ์ครั้งแรกเมื่อตุลาคม 2544 พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 5244 และหลังจากนั้นไม่นานก็มีเล่มอื่นๆตามออกมาอีก ซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นอย่างดี กล่าวคือ แต่ละเล่มมียอดการพิมพ์ซ้ำไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง และต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน

      โดยล่าสุดผลงานภายใต้ชื่อชุดเดียวกันนี้มีวางจำหน่ายแล้วถึง 21 เล่ม จากกระแสความนิยมดังกล่าว ทำให้น่าค้นหาว่าอะไรเป็นจุดเด่นและจุดร่วมที่ทำให้เรื่องสั้นชุดนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้อ่านเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงได้นำทฤษฎีไวยากรณ์นิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์ (Vladimir Propp) มาปรับใช้ในการหาแบบเรื่อง โดยจะยึดตัวละครและการกระทำของตัวละครเป็นสำคัญ (สำหรับผู้อ่านที่สนใจการศึกษาโครงสร้างนิทานของ วลาดิมีร์ พรอพ์ สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารอ้างอิงในตอนท้าย)

      ด้วยจำนวนเรื่องที่มีอยู่อย่างมากมายแต่มีลักษณะโครงเรื่องที่คล้าย ๆ กัน ผู้เขียนจึงเลือกเรื่องสั้นเพียงจำนวนหนึ่งมาใช้เป็นกรณีศึกษาโดยอยู่ในหนังสือชุดความรู้สึกดีที่เรียกว่ารัก เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 รวม 18 เรื่อง และมีผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

      1. ตัวละคร โดยมากนักเขียนกำหนดให้ตัวละครในเรื่องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ทั้งมีฐานะและหน้าที่การงานดีพอสมควร

      สำหรับตัวละครที่นำมาใช้ในการหาแบบเรื่องในครั้งนี้ ประกอบด้วยตัวละครสำคัญ 4 ประเภท ดังนี้

      1.1  ตัวละครเอก โดยมากเป็นผู้หญิง ที่มี บุคลิกที่สุภาพเรียบร้อย มีบ้างที่ปากร้ายแต่ถึงอย่างไรก็เป็น

      คนที่มีจิตใจดี ในเรื่องความรักหากไม่แอบชอบตัวละครรองอยู่ก่อนแล้ว ก็มักจะประทับใจตัวละครรองหลังจากที่ได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันมาได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็จะไม่ตกลงใจหรือเปิดเผยความในใจออกมาทันที ถ้าหากไม่ถูกเร่งเร้าด้วยอุปสรรคหรือปัญหา

        1.2 ตัวละครรอง ส่วนมากเป็นผู้ชาย และมักจะเป็นฝ่ายที่แสดงออกถึงความรัก ความประทับใจที่มีต่อตัวละครเอกอย่างตรงไปตรงมา ตัวละครในหลายเรื่องมีความประทับใจตัวเอกมาก่อนตั้งแต่ครั้งเป็นเด็ก หรือบางทีก็แอบชอบตัวละครเอกโดยไม่รู้ตัว และมีบางลักษณะที่เข้ามาแบบผู้ช่วยรักษาแผลใจหรือไม่สนใจเรื่องในอดีตของตัวละครเอกว่าเคยเป็นอย่างไร

        1.3 ผู้ช่วย มักเป็นคนสนิทของตัวละครเอก และตัวละครรอง ความสัมพันธ์มีทั้งที่เป็นพี่น้อง พ่อแม่ และเพื่อน บทบาทสำคัญ คือ ช่วยสนับสนุนให้ตัวละครเอกและตัวละครรองให้รักกัน เมื่อเกิดปัญหาก็ช่วยให้คำปรึกษา หรือเป็นผู้แก้ไขปัญหานั้นให้

        1.4 ผู้ขัดขวาง ไม่มีบทบาทที่เด่นมากนัก มักเป็นสาเหตุของความเข้าใจผิดระหว่างตัวละครเอกและตัวละครรองมากกว่าที่จะมาแสดงอาการกีดกันหรือหึงหวง

      2.  การกระทำ (Function) สำหรับพฤติกรรมที่ตัวละครทั้ง 18 เรื่อง แสดงออกนั้นสามารถแบ่งตามลักษณะของการกระทำได้ดังนี้

                           2.1    แอบชอบกัน

      2.2    ไม่ถูกชะตากัน

      2.3    เข้าใจผิดกัน

      2.4    หวาดกลัวความรัก

      2.5    ผิดหวังกับความรัก

      2.6    หลงรักเขาข้างเดียว

      2.7    ไม่กล้าแสดงออกถึงความรัก

      2.8    ระลึกเรื่องราวในอดีตชาติได้

      การวิเคราะห์แบบเรื่องความรัก

      เมื่อนำการกระทำของตัวละครมาเรียงลำดับความสัมพันธ์ของตัวละครตามโครงเรื่องที่ปรากฏแล้วพบว่า มีแบบเรื่องที่ซ้ำกันทั้งหมด 8 แบบด้วยกัน คือ

      แบบที่ 1 ตัวละครเอกและตัวละครรองเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อนและต่างก็แอบชอบกัน แต่เนื่องจากทั้งคู่ไม่มั่นใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ตัวละครรองจึงเปลี่ยนใจไปมีคนรักใหม่ แต่ถึงอย่างไรก็เลิกกันและกลับมารักตัวละครเอกในที่สุด แบบเรื่องลักษณะนี้ได้แก่เรื่อง บันทึกรักของเพื่อน, มีเธอเสมอไปในดวงตา, คือคนพิเศษของใจ และเก็บรักไว้ในสายหมอก

      ตัวอย่างการวิเคราะห์

      เรื่อง บันทึกรักของเพื่อน

      โครงเรื่อง หญิงสาวคนหนึ่งอาศัยการบันทึกไดอารี่เพื่อระบายความในใจ โดยเฉพาะเรื่องที่เธอไปแอบชอบเพื่อนสนิท แต่ไม่กล้าบอกเขาเนื่องจากเขามีคนรักอยู่แล้ว และเธอก็มีคนมาชอบพอเช่นกัน เมื่อเธอไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยความตื่นเต้นทำให้ลืมนำสมุดบันทึกติดตัวไปด้วย ร้อนถึงพี่ชายที่ต้องส่งตามมาให้ แต่เรื่องไม่เป็นดังนั้นเมื่อพี่ชายวานให้เขาคนนั้นมาส่งแทน ทั้งคู่จึงได้รู้ความในใจของอีกฝ่ายว่ามีใจต่อกัน

      ตัวละคร ประกอบด้วย

        1.  ตัวละครเอก คือ ภควดี

        2.  ตัวละครรอง คือ วศิน

        3.  ผู้ช่วย  คือ พี่ชาย

        4.  ผู้ขัดขวาง คือ พล , แก้ว

      การกระทำ ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างกันของตัวละคร ดังนี้

        1.  ตัวละครเอก-ตัวละครรอง ภควดีกับวศินแอบชอบกัน

        2.  ผู้ขัดขวาง-ตัวละครเอก พลมาชอบภควดี

        3.  ตัวละครรอง-ผู้ขัดขวาง วศินไปจีบแก้วเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึก

        4.  ตัวละครเอก-ผู้ช่วย ภควดีสั่งให้พี่ชายส่งสมุดบันทึกมาให้

        5.  ผู้ช่วย-ตัวละครรอง พี่ชายของภควดีวานวศินส่งของแทน

        6.  ตัวละครรอง-ตัวละครเอก วศินได้รู้ความในใจของภควดีจึงเขียนคำสารภาพรักใส่ไว้ในสมุดบันทึก

        7.  ตัวละครเอก-ตัวละครรอง ภควดีทราบความในใจ และส่งอีเมลกลับไปหาวศิน

      แบบที่ 2 ตัวละครเอกและตัวละครรองบังเอิญได้รู้จักกันจึงคบหาเป็นเพื่อน และพัฒนาความสัมพันธ์มาเป็นคนรักในที่สุด แบบเรื่องลักษณะนี้ ได้แก่เรื่อง บันทึกรักออนไลน์, เติมวันเวลาด้วยความรัก

      แบบที่ 3 ตัวละครเอกและตัวละครรองเกิดความเข้าใจผิดกันแต่ก็กลับมาคืนดีกัน แบบเรื่องลักษณะนี้ ได้แก่เรื่อง เพียงรัก, เพียงสายลม

      แบบที่ 4 ตัวละครเอกหรือตัวละครรองผิดหวังกับความรักแล้วได้พบรักใหม่ แบบเรื่องเช่นนี้ ได้แก่เรื่อง แค่น้ำเกาะตา, เพลงบทเก่า และรักนิรันดร์

      แบบที่ 5 ตัวละครเอกและตัวละครรองเคยรู้จักกันมาก่อนแต่จำกันไม่ได้ เมื่อมาพบกันอีกครั้ง แม้ว่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันก็ปรับความเข้าใจกันได้ ด้วยเห็นแก่ความสัมพันธ์ที่เคยมีมา ลักษณะเรื่องแบบนี้ ได้แก่เรื่อง แด่ชายคนนี้ที่ฉันรัก, ตามรัก และดวงตะวันในดวงใจ 

      แบบที่ 6 ตัวละครเอกและตัวละครรองระลึกชาติได้ว่าเคยรักกันมาก่อน และตามมาเป็นคู่รักกันอีกในชาตินี้ ได้แก่เรื่อง FORGET ME NOT

      แบบที่ 7 ตัวละครเอกแอบชอบตัวละครรองข้างเดียว และทำได้เพียงแค่เก็บความรู้สึกนั้นไว้ แบบเรื่องลักษณะนี้ ได้แก่เรื่อง เวลาที่ผ่านเลย

      แบบที่ 8 ตัวละครเอกและตัวละครรองไม่ถูกชะตากัน แต่มีเรื่องให้เกิดความประทับใจซึ่งกันและกันทำให้รักกันในที่สุด โดยเรื่องที่มีลักษณะเช่นนี้ได้แก่เรื่อง เพียงคนหนึ่งของหัวใจ และหนุ่มขี้เมากับสาวห้าวปากจัด

      เมื่อตำรับรักปรากฏ


                 จากการศึกษาเรื่องสั้นทั้ง 18 เรื่อง พบว่า แบบเรื่องความรักที่นักเขียนให้ความนิยมมากที่สุด คือแบบเรื่องความรักแบบที่ 1 ซึ่งกำหนดให้ตัวละครแอบชอบกันแต่ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึก จนกระทั่งต้องสูญเสียคนที่รักไปจึงได้กล้ายอมรับความจริง ต่อมามีโอกาสกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ ทั้งคู่จึงได้รักกันอีกครั้ง

      เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ"การแอบชอบ"เป็นอารมณ์พื้นฐานที่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ไม่นิยมให้เปิดเผยความรู้สึกอย่างโจ่งแจ้ง อีกทั้งยังเข้ากับกลุ่มผู้อ่านที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นซึ่งมีช่วงอารมณ์แอบรักแอบฝันได้ง่าย

      สำหรับการสร้างตัวละครนั้น พบว่าผู้เขียนมักกำหนดให้เป็นผู้มีการศึกษาและฐานะดี มีความรักในช่วงเวลาที่บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นส่วนใหญ่  ตัวละครในแต่ละแบบมีสภาพตามความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในสังคม กล่าวคือ ปรากฏนิสัยทั้งในด้านดีและไม่ดี

      ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอันเป็นลักษณะร่วมของตัวละครในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็คือ การยึดถือความรักเป็นหลักในชีวิต ทำให้เรื่องราวนั้นมักจะจบลงด้วยความสุข หรือแม้ว่าจะไม่สมหวังแต่ก็ยังมีความรู้สึกดีที่ประทับใจอยู่ ทำให้"รวมเรื่องสั้นชุดความรู้สึกดีที่เรียกว่ารัก" เป็นผลงานหนึ่งที่สามารถครองใจผู้อ่านได้อย่างมากมาย

      และผลของการศึกษาแบบเรื่องความรักนี้ ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจหรือเพิ่งหัดเขียนเรื่องสั้นแนวรักโรแมนติกได้อีกด้วย

      ภาณุวัฒน์  สกุลสืบ


      รายการอ้างอิง

      มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระ.  (2513).  ศกุนตลา มัทนะพาธา ท้าวแสนปม ประมวลสุภาษิต.

      กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.

      วนิดา บำรุงไทย,รศ.  (2544).  ศาสตร์และศิลป์แห่งนวนิยาย. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.

      ศิราพร ณ ถลาง (บรรณาธิการ).  (2544).  ไวยากรณ์ของนิทาน การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง.

      กรุงเทพฯ:  โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                                                                  

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×